เมื่อ “สมโภชน์ อาหุนัย” เจ้าของ “พลังงานบริสุทธิ์” มีความเชื่อที่ว่าสุดท้ายโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นหลัก ดังนั้น เดินหน้าสร้างประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้ง! ด้วยการต่อยอดมุ่งสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นคือ “แบตเตอรี่” และ “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า”
หนึ่งในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นไทยที่เป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานสะอาด… ในนั้นต้องมีชื่อของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ของ “สมโภชน์ อาหุนัย” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน “แสงแดดและสายลม” เมื่อ 15 ปีก่อน จากความเชื่อที่ว่าสุดท้ายโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition) ด้วยพลังงานสะอาดเป็นหลัก ดังนั้น EA กำลังก้าวเปลี่ยนจากยุคบริษัทที่เน้นการผลิตกลายเป็นการผลิตเชิงยุทธศาสตร์ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้
และ EA กำลังจะทำประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้ง! ด้วยการต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาด มุ่งสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นคือ เทคโนโลยีระบบการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) หรือ “แบตเตอรี่” และในเทคโนโลยีอนาคตอย่าง “ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า” (อีวี) อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการผลิตรถยนต์อีวีที่เป็นนวัตกรรมและแบรนด์สัญชาติไทยรายแรก
หากย้อนกลับไป บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เกิดจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท ซันเทคปาล์มออยล์ จำกัด ที่ทำธุรกิจโรงงานผลิตไบโอดีเซล แล้วเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อปี 2556 จากธุรกิจผลิตไบโอดีเซล (โรงงาน B100) และปัจจุบัน EA มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งหมด 4 โครงการ รวมกำลังผลิต 278 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 8 โครงการ รวมกำลังผลิต 386 เมกะวัตต์
ก่อนจะมุ่งสู่เทคโนโลยีแห่งอนาคต “สมโภชน์” บอกว่า ได้นำความรู้และประสบการณ์หลังเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรม และปริญญาโทด้านการเงิน และเริ่มต้นการเป็นมนุษย์เงินเดือน ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งตอนนั้นเป็นคนวิเคราะห์ให้กับ “นักลงทุน” ฟังเพื่อนำข้อมูลไปลงทุน
แต่มาในครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์เทรนด์ของธุรกิจในอนาคตเพื่อนำเงินตัวเองมาลงทุน ซึ่งใช้เวลาวิเคราะห์และคิดค้นล่วงหน้าก่อนตัดสินใจไม่น้อยกว่า 4-5 ปี! ในการมองหาการลงทุน “ธุรกิจใหม่” (new S-curve) หลังพบว่า ธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เวลาไม่มีแดด โซลาร์เซลล์ ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้า เวลาไม่มีลม กังหันลม ก็ไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าเช่นกัน ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ธรรมชาติกำหนดและเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมอีกด้วย
“สมโภชน์” เดินเกม “พลังงานบริสุทธิ์” สู่ “ผู้นำ” เทคโนโลยีพลังงานสะอาดดังนั้น “แบตเตอรี่ ลิเทียมไอออน” คือคำตอบของธุรกิจอนาคต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจากการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด โดยในส่วนของแบตเตอรี่ที่จะใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยบริษัทมีความร่วมมือกับพันธมิตรจากไต้หวัน คือบริษัท AMITA Technologies Inc. ผ่านโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ดำเนินการภายใต้บริษัทย่อย คือบริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ATT) ระยะที่ 1 ขนาด กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม มองว่าทิศทางสำคัญของประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ รัฐต้องสนับสนุนลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีที่สอดคล้องกับเทรนด์และกระแสของโลกที่มุ่งเน้นไปในเรื่องพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยแยกออกเป็น 2 ตลาดใหญ่ คือ ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล และตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
โดยในส่วนของบริษัทจะมุ่งเน้นเจาะตลาด “รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์” เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงในอนาคต ทั้งตลาดในประเทศและตลาดระดับภูมิภาค โดยคาดว่าตลาดรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นเร็วกว่าตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากมองในเรื่องของความคุ้มค่าและช่วยประหยัดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้มากกว่ารถน้ำมันที่ปัจจุบันราคาน้ำมันแพงมาก รวมถึงมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะอื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้าทั้ง รถบัส, รถบรรทุก รวมทั้งเรือไฟฟ้า ซึ่งมองไปถึงการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายในอนาคต
สำหรับ “รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล” มองว่าขึ้นอยู่กระแสสังคม ความรู้สึก และเรื่องของราคา ซึ่งเทรนด์รถยนต์อีวีตอนนี้เริ่มมาให้เห็นแล้ว ดังนั้น คาดว่าไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า น่าจะเริ่มเห็นรถอีวีวิ่งบนท้องถนนมากขึ้น จากระดับพันคันขึ้นไปเป็นแสนคัน ประกอบกับเมืองไทย อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้แน่นอน เนื่องจากมีปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานรองรับพร้อม
“ความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตมีดีมานต์เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง โดยเป้าหมายที่จะมีการผลิตรถอีวี เพิ่มอีก 1.3 ล้านคัน ในประเทศต้องการแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นถึง 260 GWh หากคิดถึงความต้องการใช้ทั่วทั้งอาเซียนในอนาคตการใช้จะมีอีกมาก ซึ่งเป็นโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโตต่อไปได้”
นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นรายแรกๆ ที่มีการลงทุนใน “สถานีชาร์จไฟฟ้า” (EA Anywhere) จำนวน 1,000 สถานี ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 400 สถานีนอกปริมณฑล และ 600 สถานี ในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งการออกแบบและพัฒนาเรือพลังงานไฟฟ้าผลงานคนไทย สะอาดปราศจากมลพิษ เชื่อมต่อพลังงานทั้งทางบกและทางน้ำ เป็น Smart Transport แบบครบวงจร
ทั้งนี้ มองว่าตลาดอุตสาหกรรมรถอีวี ของแต่ละประเทศมีความพร้อมไม่เท่ากัน แต่สำหรับเมืองไทยมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) อย่าง 1.“อุตสาหกรรมพื้นฐาน” ไทยมีฐานอุตสาหกรรมรถยนต์มาก ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนรถไฟฟ้าซึ่งขาดเพียงแบตเตอรี่ ดังนั้น ไทยพร้อมที่จะเปลี่ยน 2.“ผู้ซื้อ” เมืองไทยหากเทียบกับอาเซียน ถือว่ามีรายได้ต่อหัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งคนไทยมีอำนาจในการซื้อ 3. “ปริมาณไฟฟ้า” เมืองไทยมีไฟฟ้าเพียงพอ กำลังผลิตไฟฟ้าเมืองไทยราว 50,000 เมกะวัตต์ เทียบช่วงที่ไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุด (เม.ย.) มีปริมาณใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเหลืออีก 20,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่กำลังผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
“ดังนั้นภาพใหญ่ของไทยมีความพร้อมในการก้าวไปในอุตสาหกรรมรถอีวี หากเราไม่เดินภายใน 3-5 ปี ประเทศที่ตอนนี้ไม่พร้อมก็จะพร้อม และเมื่อประเทศเหล่านั้นมีความพร้อม และไทยยังไม่เดินอุตสาหกรรมที่เราบอกว่าเป็นของไทยก็จะย้ายฐานไปอยู่ประเทศอื่นๆ แทน”
ท้ายสุด “สมโภชน์” มองว่าหากอีโคซิสเตม (Ecosystem) ครบวงจร จะทำให้อุตสาหกรรมรถอีวีเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ถ้าหากโครงสร้างพื้นฐานพร้อมคนก็พร้อมที่จะใช้งานเมื่อนั้นอุตสาหกรรมรถอีวีก็จะเติบโต
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business