อีกหนึ่งโครงการมหากาพย์เมืองพัทยา “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” คอนโดมิเนียมสุดหรูตั้งริมอ่าวพัทยา วันนี้ไม่รื้อก็ต้องยื้อกันต่อไป
วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บาลีฮาย จำกัด ผู้บริหารโครงการ “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา จ.ชลบุรี คอนโดมิเนียมสุดหรูตั้งตระหง่านริมอ่าวพัทยา ขนาดความสูง 53 ชั้น บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา ได้ยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างจากเมืองพัทยาอีกครั้ง โดยระบุว่าได้ทำการรื้อถอนอาคารบริเวณด้านหน้าที่มีแนวเชื่อมต่อกับอาคารสูง จากระยะ 90 เมตรให้เหลือ 60 เมตร
พร้อมจะปรับลดขนาดพื้นที่ให้ตรงตามแบบที่ขออนุญาตไปในครั้งแรก ซึ่งกรณีนี้จะทำให้เข้าข่ายการขออนุญาตได้ตามกฎกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีพื้นที่ของบริเวณโดยรอบติดถนนสาธารณะทั้ง 2 ฝั่ง คือ ถนนพัทยาสาย 3 และพัทยาสายหน้าท่าเทียบเรือพัทยาใต้
และจากการสอบถามข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่สำนักการช่างเมืองพัทยา ทราบว่า กรณีดังกล่าว เมืองพัทยาไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ทำได้เนื่องจากไม่เข้าข่ายตามกฎหมายกระทรวงมหาดไทยที่ 55 ข้อ 46 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ทางโครงการเสนอ เนื่องจากการตรวจแนวผังที่ดิน พบว่า บริเวณด้านหน้าของอาคารที่ติดกับท่าเทียบเรือพัทยาใต้ มีที่ดินครอบครอง หรือ (ทค.) ขวางอยู่ตลอดแนว
จึงถือว่าบริเวณของโครงการไม่ได้ติดกับถนนสาธารณะทั้ง 2 ฝั่ง และไม่เข้าข่ายที่จะสามารถให้อนุญาตได้
“ประเด็นสำคัญคือที่ผ่านมาโครงการนี้มีการออกคำสั่งให้ทำการรื้อถอนอาคาร หรือ ค.15 ไปแล้วจากเมืองพัทยา และปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการเขียน TOR เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้างและงบประมาณ แต่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนเนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการหารือกลุ่มกฎหมาย สผ. และกรมโยธาธิการ ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ด้วยยังไม่สามารถกำหนดได้ว่ากระทำการได้หรือไม่หลังมีคำสั่งรื้อถอนไปแล้ว”
นอกจากนั้น ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอาคารของโครงการมีใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ที่เมืองพัทยาจะต้องทำการเรียกเก็บเงินจากค่ารื้อถอนได้ ที่สำคัญขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องกับเจ้าของห้องชุด จึงเกรงว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ได้
ทั้งนี้ โครงการ “วอร์เตอร์ฟรอนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์” พัทยา ได้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2551 บริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี โดยเป็นคอนโดมิเนียมสุดหรูริมอ่าวพัทยา ขนาดความสูง 53 ชั้น มีจำนวนห้องพัก 312 ห้อง และมีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติพากันเช่าซื้อในสนนราคาตั้งแต่ 4-10 ล้านบาท
โดยทางโครงการระบุในสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบห้องพักให้ผู้ซื้อได้ภายในเดือน ธ.ค.2558 แต่สุดท้ายในช่วงปลายปี 2551 “นายอิทธิพล คุณปลื้ม” นายกเมืองพัทยาในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง พร้อมระบุว่า เมืองพัทยาไม่สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างในรอบที่ 3 ให้ได้
เนื่องจากตรวจพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบตั้งแต่ฐานราก รวมทั้งตำแหน่งช่องลิฟต์และบันไดหนีไฟ และยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง เข้าตรวจสอบสภาพตัวอาคารเพื่อให้แก้ไขรายละเอียดแบบแปลนรวม 42 จุด
ทำให้ในช่วงปลายปี 2559 เจ้าของโครงการต้องแจ้งต่อเมืองพัทยา ว่า พร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย รวมทั้งการลดระดับความสูงของอาคารลง 8 ชั้นเพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชนที่ต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากโครงการบดบังภูมิทัศน์และตั้งขวางแนวอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บนเขา สทร.5 พัทยา
โดยในช่วงที่เมืองพัทยายังไม่ออกใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้าง ยังได้มอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัท บาลีฮาย จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการใน 2 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และ 2.บุกรุกพื้นที่สาธารณะ จนทำให้กลุ่มผู้ซื้อห้องพักรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ และความเสียหาย
ทำให้โครงการต้องยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการหลังต้องแบกภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาทในปี 2561 แต่ศาลไม่รับคำร้อง
ต่อมา ในปี 2561 ข่าวคราวโครงการวอร์เตอร์ฟรอนท์ฯ กลับมาคึกโครมอีกครั้งเมื่อทีมทนายฝั่งผู้ซื้อ เปิดแถลงข่าวหลังศาลฎีกาพิพากษาว่า การออกโฉนดที่ดิน “อาชาแลนด์” ซึ่งอยู่ติดกับโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมแจงที่มาว่าแปลงที่ดินของคอนโดฯ มาจากเอกสารสิทธิเดียวกันที่ถูกแบ่งแยกขายออก
จึงเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้าตรวจสอบ ขณะที่คดีความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายก็ชะงักลง หลังผู้รับผิดชอบโครงการถอนคดี จนผู้ซื้อต้องรวบรวมเอกสารส่งฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน
ขณะเดียวกัน นายอภิชาต วีปรปาล รองนายกเมืองพัทยา ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 เลขที่ 367/2560 ประกาศให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 4 และ 43 วรรคสาม (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต)
โดยแจ้งความไปยังบริษัท บาลีฮาย จำกัด โดยระบุว่า ตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนอาคาร การรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาตหรือคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่งและมาตร 41 วรรคหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าทางโครงการมิได้ดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด
จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 และ มาตรา 43 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2511 จึงให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ขนาด 19.70×91.35 เมตร จำนวน 1 หลัง ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฎหมาย
กระทั่ง นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่งของเมืองพัทยาที่ ชล.52304/9377 ลงวันที่ 27 ต.ค.2563 เพื่อออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า เมืองพัทยาจำเป็นต้องดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการ ซึ่งก่อสร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหลังมีคดีความยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี
จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมมานานหลายปีจะจบลงอย่างสวยงาม และมีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงเพียงใด
เครดิต https://www.mgronline.com/local/detail/9640000100198