กมธ.ถกภาษีขายหุ้น-คริปโท “สรรพากร”รับข้อมูลผลกระทบศึกษาเพิ่ม

ข่าวล่าสุด

“เฟทโก้” เผย สรรพากร รับปาก นำข้อมูลผลกระทบการจัดเก็บภาษีขายหุ้น ประกอบพิจารณาอย่างรอบคอบ แจงปัจจุบันตลาดทุนทั่วโลกแข่งขันกันหากไทยเก็บภาษี นักลงทุนหนีไปต่างประเทศ ด้านเอกชน เสนอเลื่อนเก็บภาษีคริปโท 2-4 ปี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล

วานนี้ (19 ม.ค.) คณะกรรมการธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ที่อัตรา 0.1% และการเก็บภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล(คริปโทเคอร์เรนซี) เป็นภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายการขายที่มีกำไร โดยมีกรมสรรพากร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(เฟทโก้) ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ร่วมให้ข้อมูล

การประชุมรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้ สมาคมวิชาชีพในตลาดทุนและในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ ได้เข้าหารือกับ นางสาววทันยา วงศ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงินสภาผู้แทนราษฎร

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเฟทโก้ เปิดเผยภายหลังการให้ข้อมูลว่า เฟทโก้ และตลาดหลักทรัพย์ฯได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการเก็บภาษีขายหุ้น เช่น ทำให้มูลค่าการซื้อขาย(วอลุ่มเทรด)ลดลง 40% จากนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนน้อยลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนลดลง ซึ่งจะทำให้ภาษีทางอ้อมในตลาดทุนที่สรรพากรเก็บได้ก็จะหายไป 40% เช่นกัน อาทิ ภาษีนิติบุคคล ภาษีเงินปันผลฯลฯ

ทั้งนี้ตลาดทุนไทยในปัจจุบันกับ 30 ปีที่ผ่านมานั้น แตกต่างกัน โดย 30 ปีที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยในอดีตไม่ได้แข่งขันกับตลาดทุนอื่นในต่างประเทศ เพราะช่วงนั้นแต่ละบริษัทก็จะระดมทุนในตลาดหุ้นในประเทศของตัวเอง และนักลงทุนก็จะลงทุนในตลาดหุ้นประเทศของตัวเอง ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ยังไม่อนุญาตนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ

สรรพากรรับศึกษากระทบรอบด้าน

สำหรับในปัจจุบันตลาดทุนทั่วโลกมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดให้บริษัทและนักลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นของตัวเอง และอนาคตบริษัทไทยที่จะเกิดจากคนรุ่นใหม่ ก็จะเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี และมีทางเลือกที่จะไปในจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจ หรือ เป็นตลาดทุนที่ตอบโจทย์มากกว่า

นายไพบูลย์ กล่าวว่า จากที่ได้ให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบจากการเก็บภาษีขายหุ้นต่อคณะกรรมาธิการฯแล้วนั้น ทางกรมสรรพากรก็รับปากที่จะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

สรรพากรชี้เก็บ0.1%ไม่สูง

ด้านตัวแทนจากกรมสรรพากร ให้เหตุผลเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นในที่ประชุมว่าเป็นเรื่องของความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมายกเว้นในการจัดเก็บมากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งถึงเวลาในการจัดเก็บ ขณะที่อัตราภาษีที่เก็บ 0.1% นั้นถือว่าไม่ได้สูงเกินไป ในแง่ความเป็นธรรม จาก รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย( ADB)พบกว่า การเก็บ Financial Transaction Tax ภาษี 94% ปกติมาจากนักลงทุนรายใหญ่ แสดงว่าภาษีนี้อยู่กับกลุ่มคนมีรายได้สูง

ในด้านต้นทุนแข่งขันได้หรือไม่นั้น สรรพากรได้เทียบกับค่าธรรมเนียมปัจจุบัน เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขายให้กับโบรกเกอร์ คิดเป็น 90% ของ transaction cost เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ถือว่าแข่งได้ เพราะทั้งมาเลเซีย และฮ่องกง เก็บภาษีทั้งจากฝั่งซื้อและฝั่งขาย ขณะที่เกือบทุกประเทศในอาเซียน มีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น และ transaction tax ตัวใดตัวหนึ่งอยู่แล้วแต่ฟิลิปปินส์ และเวียดนามนั้น เก็บทั้ง 2 ตัว

ดังนั้นต้นทุนของการซื้อขายหุ้นของไทยอยู่ราวๆ 0.22% ถือว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่น และถือว่าน้อยสุดในอาเซียน ส่วนเรื่องสผลกระทบต่อภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น บางรายงานบอกว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งทางสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องดังกล่าว

ประชาพิจารณ์ภาษีคริปโท

สำหรับการเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ตามกฎหมายไม่ได้ยกเว้นภาษีกำไร และไม่ได้ยกเว้น VAT เช่นกัน ซึ่งกฎหมายเรื่องการเก็บภาษีกำไรจากการเทรดคริปโทฯออกมาเมื่อปี 2561 โดยจากการศึกษาผลกระทบต่อการเก็บภาษีในตลาดคริปโทฯนั้น ซึ่งมีผลกระทบอยู่แล้ว ซึ่งได้รับรู้ความคิดเห็นของทุกฝ่าย และพยายามปรับปรุง ซึ่งเข้าใจว่ามีความเป็นห่วงเรื่องความชัดเจน

แต่เรื่องคำนวนแบบ capital gain tax กำลังศึกษาเรื่องการปรับกฏหมาย และอนาคตของตลาด รวมถึงศึกษาว่าจะให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล(exchange) เก็บแทน หรือ เก็บแบบ Financial Transaction Tax ที่กระทบรายย่อยน้อยที่สุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการ ทำแบบสอบถามกับนักลงทุน รวมถึง เรื่องการบันทึกการลงทุนของนักลงทุนเป็นรูปแบบใด

เผยนักลงทุนไม่พร้อมยื่นภาษี

ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง iTAX กล่าวว่า จากแบบสำรวจไม่มีใครอยากเลี่ยงภาษี แต่ถ้าทางออกเพื่อไม่ให้มีความซับซ้อน อยากให้เก็บภาษีแบบ transaction โดยให้ทาง exchangeเป็นคนเก็บภาษีส่งให้สรรพากร

ขณะที่การยื่นภาษีงวดปี 2564 ที่กรมสรรพากรจะออกกฏภายในม.ค. นั้น ทำให้คนเทรดไม่ได้เก็บข้อมูลไว้ ทำให้ไม่พร้อมในการยื่นภาษี และไม่มีใครพร้อมในการทำระบบเก็บข้อมูล เพื่อส่งภาษี ทางปฎิบัติจึงวุ่นวายมาก จึงต้องการให้สรรพากรชะลอการเก็บไปก่อน

อย่างไรก็ตามหากมองในมุมการซื้อขายคริปโทฯอย่างเดียว อาจคิดว่าไม่ได้สร้างอนาคตอะไรให้กับประเทศ แต่อยากให้มองถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน กับอนาคตของประเทศ ซึ่งรายได้ของธุรกิจ exchange สามารถนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศน์เศรษฐกิจเพื่อประเทศได้ รวมถึงการระดมทุนไอซีโอของตลาดคริปโทก็เช่นกัน

“volume trade ของกระดานคริปโทฯ ใน 3 เดือนที่ผ่านมา เทียบระหว่าง Bitkub กับ Binance ต่างกัน 314 เท่า แต่ Bitkub นั้นเสียภาษีอย่างมากให้กับประเทศในปีที่ผ่านมา ยังมีโอกาสที่จะจ่ายภาษีเพิ่มจากการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละ exchange”

วงการค้านเก็บภาษีคริปโท

นายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ยังคงยืนยันข้อเสนอเช่นเดิมตามที่เคยหารือกับกรมสรรพากรเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา โดยชี้แจง 3 เรื่อง 1.ปัจจุบันการลงทุนคริปโทฯี เป็นตลาดโกลบอล เทรดทั้งในไทยและต่างประเทศ หากในไทยเก็บภาษี คนก็จะไปเทรดในต่างประเทศที่ไม่เก็บภาษีแทน เงินไหลออกไปต่างประเทศ วอลุ่มในไทยก็จะลดลง นอกจากเป็นการทำลายอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยไม่ให้เติบโตแล้ว สุดท้ายส่งผลกระทบกลับมาที่กรมสรรพากรไม่สามารถเก็บรายได้ภาษีเพิ่มอย่างที่คาดหวังไว้

2.สมาคมฯ มีสมาชิกผู้ประกอบการที่ความเชี่ยวชาญและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมศึกษาร่วมกับกรมสรรพากรอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมาย แนวทางการกำกับดูแล และการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ที่สามารถการกำกับและส่งเสริมอุตสาหรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย รวมถึงกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษี มีรายได้กลับมาพัฒนาประเทศไปพร้อมกันได้

3.สมาคมฯ ขอเสนอให้เลื่อนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลออกไปก่อน 1-2 ปี เพื่อทำการศึกษา เตรียมความพร้อมในทุกเรื่องทุกแฟลตฟอร์มให้พร้อมต่อการจัดเก็บภาษี ในแแนวทางที่ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติร่วมกันได้จริง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เสนอเลื่อนเก็บภาษีคริปโท

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่ าสมาคมฯยังคงยืนยันข้อเสนอตามที่ได้เสนอภาครัฐไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ การเลื่อนเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ออกไปก่อน หากกฎหมายยังไม่มีความชัดเจนออกมาทันในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าผู้เข้าร่วมประชุมกรรมาธิการฯ ทุกท่านได้ชี้แจ้งว่า ไม่เห็นด้วยเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงเวลานี้ แม้ว่ากฎหมายจะมีมานานแล้ว แต่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนและถึงแม้จะมีคนยื่นเสียภาษีดังกล่าวแล้วก็ตาม เพราะต้องสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์เติบโตในไทยก่อน เมื่อมีความพร้อมสามารถจัดเก็บได้ ซึ่งถ้าเก็บจริง ควรเก็บบนการขายสินทรัพย์ดิจิทัล และไม่ควรเก็บย้อนหลัง

นายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งและกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเสนอว่าการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลน่าจะเป็นการประกาศยกเว้นเก็บภาษีไปก่อน 3-4 ปี เพื่อให้ระบบพร้อม และผู้ลงทุนได้เตรียมตัว แต่ก็ไม่ควรเก็บภาษีช้าเกินไปเพราะไม่เช่นนั้น อาจเก็บได้ยากเหมือนกับภาษีหุ้น ที่ได้ยกเว้นมานานมาก

“กฎหมายภาษีต้องเปลี่ยนปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ปัจจุบัน คริปโทเคอเรนซี เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในไทยทุกส่วนในตลาดนี้ ไม่ว่าหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบการและนักลงทุน แม้ตอนนี้ยังมีมุมมองความเห็นที่แตกต่างกัน อย่างเรื่องเก็บภาษี แต่เชื่อว่าจะมีจุดที่เห็นรวมกันเป็นจุดเริ่มต้นได้”

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business