หุ้นสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งกลางเทอม

ข่าวล่าสุด

By ดนัย อรุณกิตติชัย, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริหารกองทุน บลจ. บัวหลวง08 พ.ย. 2565 เวลา 5:00 น.122

การเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) ของสหรัฐฯ ในรอบนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นซักเท่าไรในสายตานักลงทุน เนื่องจากมีประเด็นพื้นฐานสำคัญที่ยังคงกดดันตลาดการเงิน
รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมในระยะสั้นอย่างตรงไปตรงมามากกว่า โดยเฉพาะเรื่องของแนวโน้มเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน รวมถึงโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะในปีหน้า ซึ่งทำให้ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตลาดการเงินจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยเหล่านี้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (8 พ.ย.) อาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบาย การออกกฏหมายต่างๆ รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปอีก 2 ปี จนกว่าจะถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยในรอบนี้จะมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส) ใหม่ทั้งหมดรวม 435 ที่นั่ง ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่งหรือ 218 ที่นั่ง

โดยปัจจุบันพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่ที่ 220 ต่อ 212 ที่นั่ง และการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีกราว 1 ใน 3 หรือ 35 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้อย่างน้อย 51 ที่นั่ง โดยปัจจุบันพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากอยู่เช่นกัน

ปัจจุบันจากผลสำรวจและโพลต่างๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมหลายๆ แห่งมีทิศทางใกล้เคียงกัน เช่น ผลสำรวจของ RealClearPolitics (RCP) ที่บ่งชี้ว่ามีโอกาสที่พรรครีพับลิกันจะกลับมาครองเสียงข้างมากในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นอย่างน้อย

ในขณะที่การเลือกตั้งในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นไปอย่างสูสี โดยคะแนนนิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบันปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน รวมถึงการบริหารจัดการด้านอื่นๆ เช่น ปัญหาผู้อพยพ หรือ ประเด็นเรื่องของการทำแท้ง

แต่การสูญเสียคะแนนในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่หากมองย้อนไปในอดีตโดยเฉพาะเมื่อเป็นการเลือกตั้งกลางเทอมของรัฐบาลในสมัยแรก เช่น ในสมัยของ ปธน. บิล คลินตัน ในปี 1994 ที่เสีย 54 ที่นั่งในส่วนของ ส.ส. ปธน. บารัค โอบามาในปี 2010 ที่เสีย 63 ที่นั่ง รวมถึงล่าสุดกับสมัยของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 ที่เสีย 41 ที่นั่ง

โดยหากผลเป็นไปตามที่มีการคาดกันไว้ว่าพรรครีพับลิกันจะกลับมามีคะแนนเสียงมากกว่าในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (หรืออาจจะรวมถึง สมาชิกวุฒิสภา) ก็จะทำให้ในช่วงเวลาที่ 2 ปีที่เหลือของ ปธน. ไบเดน น่าจะมีความยากลำบากมากขึ้นในเรื่องของการผ่านกฏหมายต่างๆ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ที่อาจจะกลับมาเป็นประเด็นในปีหน้าอีกด้วย

ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้น หากมองย้อนหลังกลับไปสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมนับตั้งแต่ปี 1950 จนถึงรอบล่าสุดในปี 2018 รวมทั้งหมด 17 ครั้ง โดยเฉลี่ยจะพบว่าหลังการเลือกตั้งกลางเทอม ไม่ว่าผลจะออกมาในลักษณะใด เป็นการแบ่งกันครองเสียงข้างมากในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. หรือพรรคเดียวดูทั้งสองสภา ความผันผวนมีแนวโน้มลดลง และตลาดหุ้นโดยรวมจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลังจากนั้น

แต่ขนาดของการปรับตัวขึ้นจะมีมากกว่าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนทั้งสองสภาหลังการเลือกตั้งกลางเทอม และอุตสาหกรรมกลุ่ม Defensive เช่น กลุ่มอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staples) หรือกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) มีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด ตรงกันข้ามกับกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี (Information Technology) เป็นต้น ซึ่งก็อาจเกิดจากความคาดหวังในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม หรือ เรื่องของความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่ลดลง

โดยตลาดหุ้นหลังเลือกตั้งในอดีตอาจจะมาพร้อมกับความคาดหวังเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเพิ่มเติม เนื่องจากเสถียรภาพที่จะมีไปอย่างน้อยอีก 2 ปีของรัฐบาล แต่ในรอบนี้ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าที่ผ่านๆ มา หลังจากรัฐบาลใช้มาตรการการคลังแบบขาดดุลและใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากไปแล้วในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19

นอกจากนี้ยังมีการออกกฏหมายเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อ หรือ ที่รู้จักกันดีในชื่อของ “Inflation Act” ที่เป็นกฏหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่งออกไปเมื่อสองเดือนก่อนอีกด้วย นอกจากนั้นมุมมองเชิงบวกในอนาคตอาจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากในขณะนี้เศรษฐกิจยังคงเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ไม่นับรวมโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในปีหน้า

ทำให้การเลือกตั้งกลางเทอมในรอบนี้ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจจะแตกต่างจากรอบก่อนๆ ทำให้กลยุทธ์การลงทุนในภาวะปัจจุบันอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังกันต่อเนื่อง กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม มองไปที่เป้าหมายและสัดส่วนการลงทุนสำหรับการลงทุนในระยะยาว และปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในปีหน้า รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินที่เกิดจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่มากกว่าครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด