ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 400 จุดในวันจันทร์ (24 ต.ค.) หลังมีรายงานว่ากิจกรรมทางธุรกิจของสหรัฐชะลอตัวลงในเดือนต.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และควบคุมเงินเฟ้อนั้น เริ่มได้ผล
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,499.62 จุด พุ่งขึ้น 417.06 จุด หรือ +1.34%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,797.34 จุด เพิ่มขึ้น 44.59 จุด หรือ +1.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,952.61 จุด เพิ่มขึ้น 92.90 จุด หรือ +0.86%
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 49.5 ในเดือนก.ย. โดยดัชนี PMI ถูกกดดันจากการหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 4
ปีเตอร์ ทุซ นักวิเคราะห์จากบริษัทเชส อินเวสต์เมนท์ คอนเซลในรัฐเวอร์จิเนียกล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงและสิ่งที่เฟดกำลังทำนั้นเริ่มได้ผล นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังทำให้ตลาดคาดหวังว่าเฟดอาจจะชะลอการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ โดยหุ้นอิไล ลิลลี่ พุ่งขึ้น 2.09% หุ้นแอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส ทะยานขึ้น 3.41% หุ้นยูไนเต็ดเฮลธ์ บวก 1.44% หุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เพิ่มขึ้น 1.40%
หุ้นเทสลา ร่วงลง 1.49% หลังจากบริษัทประกาศลดราคารถยนต์เทสลารุ่น Model 3 และ Model Y ที่จำหน่ายในประเทศจีนลง 9% ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอุปสงค์ในจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นเริ่มชะลอตัวลง
หุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งรวมถึงหุ้นอาลีบาบา โฮลดิ้งส์ หลังจากจีนเปิดเผยรายชื่อทีมผู้บริหารชุดใหม่ในคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และทำให้นักลงทุนกังวลว่าปธน.สี จิ้นผิงจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของจีน
นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ โดยในวันพฤหัสบดีจะเป็นการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ของสหรัฐ และในวันศุกร์จะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ